การเลี้ยงหมูป่า

หมูป่า นั้นว่ากันว่ามีพื้นเพหรือถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชียนี่เองในทวีปอื่นอาจมีบ้างก็น้อย และโดยเฉพาะในเอเชียนั้นถือได้ว่าเป็นแหล่งหมูป่าแหล่งใหญ่ที่สุด หมูป่าในประเทศไทยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Sus scrofa  ที่พบก็มีอยู่ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์หน้ายาว และพันธุ์หน้าสั้น แต่ก็จะรู้จักลักษณะของแต่ละพันธุ์ เราควรมาทำความรู้จักลักษณะโดยทั่วไปกันเสียก่อน

ลักษณะโดยทั่วไปของหมูป่า คือ มีขนหยาบแข็งสีน้ำตาลเข็มหรือดำ รูปร่างไม่อ้วนเทอะทะเหมือนหมูบ้าน กล่าวคือ มีรูปร่างผอมและสูงมาก ในตัวที่โตๆ อาจสูงถึงเอวคนหรือสูงกว่านี้ก็มี หัวยาวและแหลมกว่าสุกรบ้าน ขาเล็กและเรียวยาว กีบเท้าเล็กแต่แข็งแรงมาก หูเล็ก ตาโตสีดำ คอยาวและสั้น ตาลีบบาง ท้ายหักมาก มีขนแปรงสีดำเข็มและสีดอกเลายาวประมาณ 6 นิ้ว ขึ้นตั้งแต่ท้ายทอยตลอดไปตามแนวสันหลังจนถึงสะโพก ขนส่วนนี้จะตั้งขึ้นได้ โดยเฉพาะในเวลาที่หมูตกใจกลัว หรือเตรียมพร้อมที่จะสู้ ส่วนหางไม่มีขน มีความยาวจนถึงข้อขาหลัง หนังหมูป่าจะหนามากโดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังที่บริเวณไหล่ อาจจะหนาประมาณ 5 ซม. หรือมากกว่าก็มี จมูกอ่อนแต่แข็งแรงมาก เนื่องจากหมูป่าจะใช้ปลายจมูกขุดคุ้ยดิน หรือจอมปลวกเพื่อหาอาหาร หมูป่าจะมีเขี้ยว 4 เขี้ยว ยาวและแหลมมาก ในตัวผู้ เขี้ยวนี้จะใช้เป็นอาวุธประจำตัวที่สำคัญมากในการป้องกันตัว เขี้ยวทั้ง 4 จะโค้งงอขึ้นด้านบน ความยาวของเขี้ยววัดจากโคนถึงปลายยาวประมาณ 4 – 5 นิ้ว และตัวเมียจะมีเต้านมแถวละ 5 เต้า

ลูกหมูป่าเมื่อยังเล็ก สีขนที่ลำตัวลูกหมูป่าจะมีลายเป็นแถบเล็กๆ สีเหลืองสลับขาวพาดตามความยาวของลำตัวคล้ายกับลายแตงไทย อันจะเป็นการช่วยพรางตัวจากศัตรูได้อย่างดีเยี่ยม เมื่ออายุได้ 5 – 6 เดือน ลายดังกล่าวจึงค่อยๆ เลือนหายไป จนมีสีผิวและขนเหมือนกับพ่อแม่ของมัน หมูป่าเป็นสัตว์ที่กินอาหารได้หลายอย่าง ฉะนั้นจึงมีระบบฟันที่พัฒนาไปมากเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยทั่วไปกล่าวคือ มีระบบฟันเป็นแบบ : 3/4 1/2 1/4 3/4 x2 =44 ฟันหน้าด้านล่างจะยาว แคบและยื่นตรงออกไปข้างหน้า จะทำหน้าที่คล้ายพลั่ว โดยเฉพาะในเวลาที่หาอาหาร โดยการขุดคุ้ยตามพื้นดินหรือตามดินโป่งเป็นต้น ส่วนเขี้ยวของหมูป่าไม่มีราก จะพัฒนาไปมากโดยเฉพาะในตัวผู้ ขนาดของฟันกัดต่อมาเขี้ยวจะค่อยๆ เพิ่มขนาดจากเล็กมาใหญ่ ส่วนฟันกรามพบว่าซี่สุดท้ายจะมีขนาดใหญ่มากคือ มีขนาดเท่ากับฟันกรามซี่ที่ 1 และ 2 รวมกัน ส่วนของกะโหลกศีรษะมีความยาว และลาดเอียง (Slope) มาก โดยที่ส่วนที่เป็นปากและฟันมีความยาวมากคือประมาณ 75 – 80 % ของกะโหลกศีรษะ

สภาพความเป็นอยู่ในธรรมชาติของหมูป่า โดยธรรมชาติแล้ว หมูป่าชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง ขนาดฝูงก็มีตั้งแต่ 5-6 ตัวจนถึงฝูงใหญ่ขนาด 50 ตัวก็มี แต่ละฝูงประกอบด้วยหลายวัย ทั้งเพศผู้และเพศเมีย ในตัวผู้ขนาดใหญ่จะรวมฝูงเฉพาะช่วงฤดูกาลผสมพันธุ์ แต่ช่วงปกติจะแยกตัวออกจากฝูงและอาศัยอยู่เพียงโดดเดี่ยว ที่เรียกกันว่า หมูโทน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะหมูโทนมีรางกายกำยำใหญ่โต มีเขี้ยวที่ยาวและแหลมคมสามารถที่จะรักษาตัวเองได้ หรืออาจเป็นเพราะว่ามันดุร้ายจนหมูป่าที่มีขนาดเล็กกว่าไม่อยากอยู่ด้วยจึงพากันแยกฝูงหนีไปเสีย

หมูป่ามีประสาทรับกลิ่นที่ไวมาก แต่มีประสาทตาไม่ค่อยดี รวมทั้งประสาทหูไม่ดีด้วย
(นอกจากบางครั้งที่มันเกิดสงสัยเมื่อได้กลิ่นประสาททั้งตาและหูจะว่องไวผิดปกติ) จมูกจึงเป็นเสมือนเครื่องรับประกันความปลอดภัยโดยธรรมชาติ หมูป่าเวลาออกหากินจะมีเสียงเอะอะและดังมาก ซึ่งเป็นเสียงไล่กัดกัน กัดกินอาหาร แย่งกันกินอาหาร เกลือกกลิ้งเล่นกันและเสียงนี้สามารถได้ยินในระยะไกลๆ อย่างไรก็ตามถ้าหากมันเกิดความสงสัยหรือระแวงเหตุร้ายขึ้นมา หมูป่าจะกลายเป็นสัตว์ที่เงียบที่สุดได้เหมือนกัน คือทุกตัวจะยืนนิ่งและเงียบกริบ ราวกับว่าเป็นสิ่งไม่มีชีวิต ครั้นแน่ใจว่าจะมีภัยอันตรายเกิดขึ้นกับมันจะพากันออกวิ่งหนีพอเข้าป่าได้เรียบร้อยแล้วพวกมันจะยืนนิ่งเงียบกริบอีกครั้ง เพื่อพิสูจน์ให้แน่ใจอีกครั้งว่าปลอดภัยแล้วหรือยัง ว่ากันว่ากันว่าหมูป่าวิ่งได้เร็วพอ ๆ กับเก้งหรือม้า ไม่กลัวน้ำ ว่ายน้ำเก่ง และชอบเล่นโคลนตมมาก ศัตรูที่สำคัญก็คือ เสือ หมาป่าและหมาไน หมูป่าจัดได้ว่าเป็นสัตว์ที่มีความปราดเปรียวว่องไวมาก มีสันดานลุกลี้ลุกลน ชอบย่ำเท้าหรือตะกุยดินเล่น พรานจึงสังเกตจากรอยเท้าที่มันย่ำตะกุยเพื่อตามล่ามัน ปกติหมูป่าจะเป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยดุร้ายเมื่อเห็นคนจะวิ่งหนี แต่ถ้าจนตรอกหรือได้รับบาดเจ็บ อาจกับดุร้ายและทำร้ายคนหรือศัตรูของมันได้เหมือนกัน

 

หมูป่าเป็นสัตว์ประเภทกินอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์ (Ommivorous) ซึ่งอาหารของหมูป่าก็มีตั้งแต่พวก ผักต่าง ๆ เผือก มัน เห็ด หน่อไม้ ข้าวโพด สับปะรด ถั่วลิสงและหญ้าอ่อนๆ ส่วนสัตว์จำพวกปลวก งู และหนู เวลาเจอก็กินเหมือนกัน หมูป่าจะมีนิสัยการกินอาหารแบบตะกละและแย่งกันกิน การหากินก็จะออกหากินในตอนเช้าตรู่เป็นส่วนใหญ่ หากถูกรบกวนมาก ๆ ก็จะออกหากินในตอนกลางคืนเช่นกัน

 

หมูป่าเมื่อเป็นสัดและผสมพันธุ์เรียบร้อย ขนาดตั้งท้องอาจอยู่รวมกับฝูงปกติจนกระทั้งใกล้คลอดจึงจะแยกออกจากฝูง เพื่อเตรียมทำรังสำหรับคลอดลูก ส่วนมากจะทำรังด้วยพวกหญ้าและเศษไม้เศษพืช เท่าที่หาได้มากองสุมกันจนมีความสูงประมาณ 1 เมตรกว่าๆ โดยกองบนเนินดิน แม่หมูจะคลานเข้าไปและขุดยกเป็นโพรงแล้วคลอดในโพรงนี้ เลี้ยงลูกประมาณ 4 เดือนจนลูกโต และแข็งแรง จึงเข้ารวมฝูงใหญ่ และหากินกันตามปกติในลักษณะเช่นเดิม